PF

premium flags

ข้อมูลเพิ่มเติม

ธงชาติเติร์กเมนิสถาน (รัสเซีย: Флаг Туркмении; เติร์กเมน: Türkmenistanyň baýdagy) แบบที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เริ่มใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2544 กล่าวกันว่า ธงนี้เป็นธงชาติที่มีรายละเอียดในธงมากที่สุดในโลก ลักษณะของธงนี้ เป็นธงพื้นสีเขียว ที่ใกล้ด้านคันธงนั้นคั่นด้วยแถบสีแดงตามแนวตั้ง ภายในมีลวดลายพรมอย่างที่เรียกว่า กุล (Gul) วางเรียงกันจากบนลงล่าง รวม 5 ลาย เบื้องล่างล้อมด้วยช่อใบมะกอกไขว้ ถัดออกไปจากแถบสีแดงทางด้านปลายธงตอนบนนั้น มีรูปจันทร์เสี้ยวข้างขึ้นและดาวห้าแฉก 5 ดวง รูปเหล่านี้เป็นสีขาว เหตุที่เลือกใช้สีเขียวและและสีแดงในธงชาตินี้ เป็นเพราะว่าสีดังกล่าวเคยใช้เป็นสีศักดิ์สิทธิ์ในประวัติศาสตร์ชาวเติร์ก ส่วนรูปจันทร์เสี้ยวข้างขึ้น มีนัยความหมายถึงความหวังในอนาคตอันสดใสของประเทศชาติ และรูปดาว 5 ดวงนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนจังหวัดทั้ง 5 แห่ง ของเติร์กเมนิสถาน อันได้แก่ จังหวัดอะฮัล จังหวัดบัลคัน จังหวัดดัชโฮวุซ จังหวัดเลบัป และจังหวัดมารืย ลวดลายทั้ง 5 ลายบนแถบสีแดง ซึ่งปรากฏอยู่ในตราแผ่นดินและธงชาติเติร์กเมนิสถาน หมายถึงชนชาติหลัก 5 ชนชาติในประเทศ อันได้แก่ (เรียงลำดับจากบนล่าง) ชาวเตกเก (Teke หรือ Tekke) ชาวโยมุด (Yomut หรือ Yomud) ชาวอาซารี (Arsary หรือ Ersary) ชาวโชว์ดูร์ (Chowdur หรือ Choudur) และชาวซารีก (Saryk หรือ Saryq) ส่วนชาวซาลีร์ (Salyr หรือ Salor) ซึ่งลดบทบาทลงจาการพ่ายแพ้ในสงครามก่อนที่ประเทศจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ และชนชาติเล็กอื่นๆ ไม่ปรากฏสัญลักษณ์ใดๆ ในที่นี้ รูปช่อมะกอกที่อยู่ทางเบื้องล่างของลวดลายทั้ง 5 นั้น เป็นส่วนที่ดูแปลกมากส่วนหนึ่งในธงนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาโดยขัดต่อกฎของวิชาการผูกตราสัญลักษณ์ (Heraldry) สิ่งนี้เพิ่มเข้ามาในภายหลัง เพื่อแทนความหมายว่า ประเทศนี้อยู่ในสถานะเป็นกลางอย่างถาวร (status of permanent neutrality) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ก่อนหน้าที่ประเทศนี้จะได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี พ.ศ. 2534 ธงของเติร์กเมนิสถานจะมีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต หลังได้รับเอกราชแล้ว จึงได้ประกาศใช้ธงชาติใหม่ที่ลักษณะคล้ายคลึงกับธงชาติในปัจจุบัน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงแบบธงอีกครั้งใน พ.ศ. 2540 ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธงชาติแบบปัจจุบันใน พ.ศ. 2544

แหล่งที่มา: Wikipedia